ลักษณะภูมิอากาศของโลก

“ภูมิอากาศ (Climate)” หมายถึง สภาวะอากาศของทวีป ประเทศ เมือง หรือท้องถิ่นแห่งใดแห่งหนึ่ง เป็นลักษณะอากาศที่เกิดขึ้นในช่วงระยะเวลายาวนาน จึงจัดได้ว่าเป็นตัวแทนของลักษณะอากาศเฉลี่ยของภูมิภาคใดภูมิภาคหนึ่ง ในบางครั้งเราเรียกว่า “ภูมิอากาศประจำถิ่น“(Topoclimate) ข้อมูลภูมิอากาศได้มาจากการตรวจอากาศประจำวันและนำข้อมูลที่ได้มาทำการบันทึกติดต่อกันเป็นเวลานาน และจึงนำมาหาค่าเฉลี่ยอีกครั้งหนึ่ง โดยข้อมูลที่จัดเก็บได้แก่ อุณหภูมิ ความชื้น ปริมาณน้ำฝน เมฆ และลม ร่วมกับปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ อันได้แก่ ทัศนวิสัย แสงแดด พายุหมุน เป็นต้น ส่วนคำว่า “ลมฟ้าอากาศ”(Weather)” หมายถึง สภาวะอากาศที่เกิดขึ้นในช่วงระยะเวลาหนึ่งในพื้นที่แห่งหนึ่ง เป็นสภาวะอากาศเปลี่ยนแปลงไปตามช่วงระยะเวลาต่างๆ ในรอบปี

 การจำแนกภูมิอากาศโลก

      ปี ค.ศ.1918 วลาดิเมียร์ เคิปเปน (Vladimir Kóppen) นักวิทยาศาสตร์ชาวเยอรมัน ได้จำแนกภูมิอากาศโลกโดยใช้เกณฑ์อุณหภูมิเฉลี่ยรายเดือนและปริมาณหยาดน้ำฟ้า โดยใช้สัญลักษณ์เป็นตัวอักษรภาษาอังกฤษ ดังนี้


         A    ภูมิอากาศร้อนชื้นแถบศูนย์สูตร ทุกเดือนมีอุณหภูมิเฉลี่ยสูงกว่า 18°C ไม่มีฤดูหนาว

         B    ภูมิอากาศแห้ง อัตราการระเหยของน้ำมากกว่าหยาดน้ำฟ้าที่ตกลงมา

         C    ภูมิอากาศอบอุ่นชื้นแถบละติจูดกลาง ฤดูร้อนอากาศอบอุ่น ฤดูหนาวไม่หนาวมาก อุณหภูมิเฉลี่ยของเดือนที่หนาวที่สุดต่ำกว่า 18°C และสูงกว่า -3°C

         D    ภูมิอากาศชื้นภาคพื้นทวีป ฤดูร้อนอากาศเย็น ฤดูหนาวหนาวเย็น อุณหภูมิเฉลี่ยของเดือนที่อบอุ่นที่สุดไม่ต่ำกว่า 10°C อุณหภูมิเฉลี่ยของเดือนที่หนาวที่สุดต่ำกว่า -3°C

         E    ภูมิอากาศขั้วโลก อุณหภูมิเฉลี่ยของเดือนที่อบอุ่นที่สุดต่ำกว่า 10°C

         H    ภูมิอากาศแถบภูเขาสูง เป็นลักษณะภูมิอากาศหลายแบบรวมกันตามระดับสูงของภูเขา (กำหนดโดยนักวิทยาศาสตร์ในสมัยต่อมา)

ภูมิอากาศแถบร้อนชื้นแถบศูนย์สูตร (Tropical Moist Climate): A
      เป็นบริเวณที่มีอากาศร้อนชื้น ทุกๆ เดือนมีอุณหภูมิเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 18°C และมีฝนตกมากกว่า 150 เซนติเมตร กลางวันมีอุณหภูมิเฉลี่ย 32°C กลางคืนมีอุณหภูมิเฉลี่ย 22°C กลางวันและกลางคืนมีอุณหภูมิไม่แตกต่างกันมาก เนื่องจากอยู่ในแนวปะทะอากาศเขตร้อน (ITCZ) จึงมีการก่อตัวของเมฆคิวมูลัสและเมฆคิวมูโลนิมบัสทำให้เกิดพายุฝนฟ้าคะนองในช่วงบ่ายและเย็น สภาพอากาศจะสงบท้องฟ้าใสหลังจากที่ฝนตกลงมา เนื่องจากความชื้นสูงมีไอน้ำในอากาศจำนวนมาก จึงมักมีการควบแน่นเกิดน้ำค้างและหมอกปกคลุมพื้นดินเวลากลางคืน มีปริมาณน้ำฝนเฉลี่ย 2,500 มิลลิเมตรต่อปี


พื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ระหว่างละติจูดที่ 25° เหนือ - 25° ใต้ ได้แก่ ลุ่มน้ำอเมซอนในประเทศบราซิล ลุ่มน้ำคองโกในตอนกลางของทวีปแอฟริกา หมู่เกาะในประเทศอินโดนีเซีย เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งประเทศไทย พื้นที่บางส่วนปกคลุมด้วยป่าฝนเขตร้อน (Tropical rain forest) มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง ป่าฝนเขตร้อนมีพื้นที่เพียง 7% ของโลก แต่มีสปีชีส์ของสิ่งมีชีวิตมากกว่าครึ่งหนึ่งของโลก


ภูมิอากาศแห้ง (Dry Climate): B
      เป็นบริเวณที่อากาศแห้ง ปริมาณการระเหยของน้ำมากกว่าปริมาณหยาดน้ำฟ้าที่ตกลงมา ทำให้ท้องฟ้าโปร่งแสงอาทิตย์ตกกระทบพื้นผิวมีความเข้มแสงมากกว่า 90% กลางวันมีอุณหภูมิสูงกว่า 38°C (50°C ในช่วงฤดูร้อน) กลางคืนอาจจะมีอุณหภูมิต่ำกว่าจุดเยือกแข็ง (-15°C ในช่วงฤดูหนาว) กลางวันและกลางคืนมีอุณหภูมิต่างกันมากปริมาณน้ำฝนในรอบปีเพียงประมาณ 5 เซนติเมตร บางปีอาจไม่มีฝนตกเลย

พื้นที่ในเขตนี้กินอาณาบริเวณถึง 30% ของพื้นทวีปทั้งหมดของโลก อยู่ระหว่างละติจูดที่ 20° - 30° เหนือและใต้ ส่วนใหญ่เป็นทะเลทรายบนที่ราบซึ่งห้อมล้อมด้วยเทือกเขา เช่น ทะเลทรายซาฮาร่าในทวีปแอฟริกาตอนเหนือ ทะเลทรายโกบีในประเทศจีน มีความแห้งแล้งเนื่องจากอยู่ในบริเวณแถบความกดอากาศสูงกึ่งศูนย์สูตร ซึ่งเกิดจากมวลอากาศแห้งปะทะกันแล้วจมตัวลง


ภูมิอากาศอบอุ่นชื้นแถบละติจูดกลาง (Moist subtropical mid-lattitude climate): C
       เป็นบริเวณที่ฤดูร้อนและฤดูหนาวมีอุณหภูมิไม่แตกต่างกันมาก เพราะว่ามีอากาศชื้นตลอดทั้งปีเนื่องจากพื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ใกล้ทะเลและมหาสมุทร อุณหภูมิเฉลี่ยของเดือนที่หนาวที่สุดต่ำกว่า 18°C และสูงกว่า -3°C แบ่งย่อยออกเป็น
      - ภูมิอากาศแถบเมดิเตอร์เรเนียน (Mediterranean climate) พื้นที่ส่วนใหญ่อยู่รอบชายฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ทางตอนใต้ของทวีปยุโรป และตอนเหนือของทวีปยุโรป เป็นเขตที่มีฝนตกน้อย พืชพรรณเป็นพุ่มเตี้ย มักเกิดไฟป่าในช่วงฤดูร้อน และมีฝนตกในช่วงฤดูหนาว
      - ภูมิอากาศแถบอบอุ่น (Temperate climate) พื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ระหว่างละติจูดที่ 25° - 40° เหนือ ได้แก่ทวีปยุโรปตอนกลาง และซีกตะวันออกของประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศจีน เป็นบริเวณที่ฤดูกาลทั้งสี่มีความแตกต่างอย่างเด่นชัด ปริมาณน้ำฝนในรอบปีประมาณ 500 - 1,500 มิลลิเมตร




ภูมิอากาศชื้นภาคพื้นทวีป (Humid continental climate): D
      ลมเวสเทอลีส์พัดมาจากมหาสมุทรทางด้านตะวันตกนำความชื้นเข้ามาสู่ภาคพื้นทวีปซึ่งอยู่ตอนใน เนื่องจากอยู่ในเขตละติจูดสูง อากาศจึงหนาวเย็นในช่วงฤดูร้อน (อุณหภูมิเฉลี่ยของเดือนที่อบอุ่นที่สุดไม่ต่ำกว่า 10°C) และมีสภาพอากาศรุนแรงในช่วงฤดูหนาว อากาศหยาวเย็นปกคลุมนานถึง 9 เดือน (อุณหภูมิเฉลี่ยของเดือนที่หนาวที่สุดต่ำกว่า -3°C) ซึ่งทำให้น้ำแข็งจับตัวภายในดิน ทำให้ต้นไม้เจริญเติบโตช้า เช่น ทุ่งหญ้าทุนดรา และป่าสนไทกา


พื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ในอยู่ระหว่างละติจูดที่ 40° - 60° เหนือ ของทวีปอเมริกาเหนือ ยุโรป และเอเชีย ในแถบความกดอากาศต่ำกึ่งขั้วโลก แนวปะทะอากาศขั้วโลกทำให้เกิดการยกตัว ทำให้เกิดการควบแน่นของหยาดน้ำฟ้าช่วยให้พื้นดินมีความชื้น (หมายเหตุ: ภูมิอากาศชื้นภาคพื้นทวีปไม่มีในเขตซีกโลกใต้ เนื่องจากพื้นที่ส่วนใหญ่ของละติจูดนี้ในซีกโลกใต้ ส่วนใหญ่เป็นมหาสมุทร ไม่มีพื้นทวีปขนาดใหญ่)



ภูมิอากาศขั้วโลก (Polar Climate): E
      มีอากาศแห้ง ลมแรง และหนาวเย็นตลอดทั้งปี ฤดูร้อนมีอุณหภูมิสูงกว่าจุดน้ำแข็งเพียงแค่ 2 - 4 เดือน (อุณหภูมิสูงสุดต่ำกว่า 10°C) มีฤดูหนาวที่ยาวนาน และมีอุณหภูมิต่ำกว่าจุดเยือกแข็ง พื้นที่ส่วนใหญ่อยู่เหนือเส้นอาร์คติกเซอร์เคิล (66.5°เหนือ) ขึ้นไป และใต้เส้นแอนตาร์คติกเซอร์เคิล (66.5°ใต้) ลงมา บริเวณใกล้กับขั้วโลกเช่น เกาะกรีนแลนด์และทวีปแอนตาร์กติกมีแผ่นน้ำแข็งถาวรหนาหลายร้อยเมตรปกคลุม พื้นมหาสมุทรเต็มไปด้วยภูเขาน้ำแข็ง พื้นทวีปในส่วนที่ห่างไกลจากขั้วโลก น้ำในดินแข็งตัวอย่างถาวร พืชส่วนใหญ่ไม่สามารถเจริญเติบโตได้




ภูมิอากาศแถบภูเขาสูง (Highland Climates) : H

      เป็นลักษณะภูมิอากาศหลายแบบรวมกันขึ้นอยู่กับระดับสูงของพื้นที่ บนยอดเขาสูงมีความหนาวเย็นคล้ายคลึงกับภูมิอากาศขั้วโลกแต่มีความชื้นสูงซึ่งเกิดขึ้นจากอากาศยกตัวและควบแน่น สภาพลมฟ้าอากาศเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ภูมิอากาศแบบนี้ปกคลุมพื้นที่เล็กๆ ตามเทือกเขาสูงของโลก เช่น เทือกเขาหิมาลัยในทวีปเอเชีย เทือกเขาเซียร์ราเนวาดา
      ในทวีปอเมริกาเหนือ และเทือกเขาแอนดิสในทวีปอเมริกาใต้ ชนิดของพืชพรรณตามไหล่เขา เปลี่ยนไปตามสภาพภูมิอากาศซึ่งแตกต่างกันทุกๆ ระยะสูงที่เพิ่มขึ้น 300 เมตร เช่น บริเวณเชิงเขาอาจเป็นไม้ผลัดใบ สูงขึ้นมาเป็นป่าสนและไม้แคระ ยอดเขาปกคลุมด้วยธารน้ำแข็ง




แหล่งที่มา : http://www.baanjomyut.com/library_2/extension-3/weather/index.html
                    https://sites.google.com/site/thwipphannakorn/

ความคิดเห็น

  1. ได้ทบทวนความรู้ดีมากค่ะ

    ตอบลบ
  2. บอกลักษณะภูมิอากาศของโลกได้อย่างชัดเจน หากเดินทางไปต่างประเทศ ความรู้ในส่วนนี้จะเป็นประโยชน์มากๆ

    ตอบลบ
  3. ได้รับความรู้เพิ่มเติมดีมากค่ะ

    ตอบลบ
  4. จากที่ไม่รู้เรื่องภูมิอากาศของโลกเลย
    อ่านแล้ว ทำให้เข้าใจและมีความสนใจมากยิ่งขึ้น ค่ะ

    ตอบลบ
  5. โอ้ได้ความรู้เพิ่มเยอะเลยครับ

    ตอบลบ
  6. ขอบคุณเนื้อหาสาระดีดีน่ะค่ะ

    ตอบลบ

แสดงความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

เครื่องมือทางภูมิศาสตร์

ประเภทของแผนที่

ลักษณะพืชพรรณธรรมชาติของโลก